ประเด็นร้อน
ถึงคิว!ยกเครื่อง'ป.ป.ช.' บทบาทตรวจสอบ-ถูกตรวจสอบ
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 03,2017
- - สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ - -
บทบาทของ "คณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)" ในการ "ตรวจสอบ-ป้องกัน-และปราบปราม"การทุจริต ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ถูกจับตาจากสังคมจับตาพร้อมมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการทำคดีโดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับนักการเมืองที่เกิดความล่าช้า
ฉะนั้นกระบวนการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จึงได้วางกลไกทั้งในเชิง "ตรวจสอบ" และ "ถูกตรวจสอบ" โดยผ่าน บทบัญญัติในมาตราต่างๆทั้งในส่วนของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก
เริ่มที่ฐานะ "ผู้ถูกตรวจสอบ" ที่ก่อนหน้านี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.... หรือ "กฎหมายคตง." ในวาระ3
ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือมาตรา7 วรรค3 ที่ ให้อำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)มีอำนาจใจการไต่สวนกรณีที่ตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ของป.ป.ช.กระทำการอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ
ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันอย่าง กว้างขวาง มุมหนึ่งมองว่า ควรตัดประเด็นดังกล่าวออกเนื่องจากการให้ผู้ว่าสตง. เข้ามาไต่สวนเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. เป็นการ ก้าวล่วงอำนาจ ขณะเดียวกันก็มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้วจึงถือว่าไม่มีความจำเป็น
แต่อีกมุมหนึ่งกลับมองว่า การให้สตง.ไต่สวนทุจริตป.ป.ช.ได้ เพื่อเป็นไปตามหลักการถ่วงดุลระหว่างองค์กร รวมทั้งที่ผ่านมามีคำถามว่า หากป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กร ในการตรวจสอบทุจริตมีการกระทำผิดเสียเองจะเป็นอำนาจขององค์กรใดในการตรวจสอบ?
กระทั่งสนช.มีการปรับแก้ในประเด็นดังกล่าว จากเดิมที่ "ให้คตง.มีอำนาจในการไต่สวน"เป็น "ให้มีอำนาจในการ ร่วมไต่สวน" โดย "กรณีที่มีหลักฐาน เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ทุจริตต่อหน้าที่ ให้แจ้งคณะกรรมการป.ป.ช.ทราบและ ให้สตง.มีอำนาจไต่สวนเบื้องต้นตาม หลักเกณฑ์ที่ป.ป.ช.กำหนด แต่ต้อง ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ป.ป.ช."
ขณะเดียวกันในส่วนของ"คณะกรรมการป.ป.ช."นั้นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้เปิดช่องทางการตรวจสอบป.ป.ช.ไว้ในมาตรา236
โดยให้"สมาชิกรัฐสภา"จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาหรือ "ประชาชน"ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหา ว่ากรรมการป.ป.ช.ผู้ใดกระทำการตามมาตรา 234(1) โดยยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร
หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุ อันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูก กล่าวหาให้เสนอเรื่องไปยังประธาน ศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจาก ผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและ มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง
ขณะที่บทบาทในการ "ตรวจสอบ การป้องกัน และปราบปราม" การทุจริตนั้นถูกกำหนดผ่านบทบัญญัติของร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยป.ป.ช. ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ลงมติรับหลัการในวาระแรกไปเมื่อวานนี้นี้(2 พ.ย.) โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย
ประเด็นแรก การดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งแต่เดิมประสบปัญหาคดีความสะดุดหยุดลงเนื่องจากจำเลยหลบหนี
โดยในมาตรา7 ระบุว่า กรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่าง ถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ไม่ให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 ว่าด้วยอายุความมาใช้บังคับ
ประเด็นที่ 2 การให้อำนาจป.ป.ช.ในการเสนอความเห็นเพื่อป้องกันการทุจริต
มาตรา 31 กำหนดให้ป.ป.ช.มีหน้าที่ เสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือ องค์กรอัยการ ในการเสนอแนะให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเมื่อองค์กรใดได้รับแจ้งแล้ว หากไม่อาจดำเนินการได้ให้แจ้งปัญหาและอุปสรรคต่อป.ป.ช.ให้ทราบต่อไปภายใน 3 เดือนนับแต่ได้รับแจ้งจากป.ป.ช.
ขณะที่มาตรา 34 ให้ป.ป.ช.มีมติไม่น้อยกว่า2ใน3 สามารถมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานรัฐและคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการดำเนินการอย่างใดของหน่วยงานของรัฐที่อาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต เพื่อให้ดำเนินการตามควรแก่กรณีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐ และต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป เว้นแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความลับของทางราชการ
ประเด็นที่ 3 การกำหนดระยะเวลาการไต่สวนของป.ป.ช. จากเดิมที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา จึงทำให้มีหลายคดีที่ค้างอยู่ในการพิจารณาอยู่ในป.ป.ช.เป็นจำนวนมาก ในกระบวนการร่างกฎหมายครั้งนี้จึงมีการบัญญัติไว้ในมาตรามาตรา 47 ของร่างพ.ร.ป.ว่า "ป.ป.ช.ต้องดำเนินการโดยพลัน และต้องไต่สวนพร้อมกับวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่เริ่มดำเนินการ แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการได้เสร็จภายใน 1 ปีป.ป.ช.อาจขยายเวลาออกไปอีกตามที่จำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 2 ปี " เว้นแต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเดินทางไปไต่สวนในต่างประเทศหรือขอให้หน่วยงานของต่างประเทศดำเนินการไต่สวนให้หรือขอรับเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ จะขยายระยะเวลาออกเท่าที่จำเป็นก็ได้
จากบทบัญญัติตามมาตราต่างๆตามที่กล่าวมาจึงถือว่า เป็นการ "ยกเครื่อง" ป.ป.ช.ครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในฐานะเป็นองค์กร ปราบทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรม!!
กฎหมาย ป.ป.ช.'ยาแรง'ฉบับปราบโกง
กรุงเทพธุรกิจ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)กิจการสนช.หรือวิปสนช.กล่าวว่า ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงซึ่งจะมาจัดการกับนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงโดยตรง พร้อมกำหนดสเปคกรรมการทั้ง 9 คนไว้สูง ขณะที่การไต่สวนเรื่องที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางหรือเป็นกรณีมีการไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ให้ปปช.ไต่สวนเองหรือจะแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่า3 คนหรือในกรณีมีความจำเป็นให้กรรมการไต่สวนมีอำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาได้
อย่างไรก็ดี เมื่อป.ป.ช.มีมติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระมีความผิด ให้ส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารพยาน หลักฐานให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯใน30สิบวัน
"หากป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรในการตรวจสอบทุจริตมีการกระทำผิดเสียเองจะเป็นอำนาจองค์กรใดในการตรวจสอบ'
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
WebSite : http://www.anticorruption.in.th